JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

เทคนิคการบัดกรี

2015-12-01 11:25:22 ใน ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ » 0 132058
เทคนิคการบัดกรี
ในปัจจุบันในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นอุปกรณ์ที่ต่อกันอยู่ในวงจร โดยขาของอุปกรณ์ถูกบัดกรีให้เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งถ้าหากจุดบัดกรีติดกันไม่สนิท สกปรกหรือใช้ปริมาณตะกั่วบัดกรีน้อยเกินไปในการบัดกรี อาจจะเป็นสาเหตุให้การทำงานของวงจรผิดพลาดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบโดยรวมได้    
 การบัดกรีเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้โดยการฝึกปฏิบัติและการมีความรู้ที่ถูกต้องซึ่งการบัดกรีเป็นการประสานส่วนที่เป็นโลหะ 2 ส่วน เข้าด้วยกันโดยการให้ความร้อน และใช้ตะกั่วบัดกรีเป็นตัวประสาน ซึ่งการบัดกรีของโลหะทั้งสองเข้าด้วยกันจะเป็นการเชื่อมต่อกันทางโครงสร้างและทางไฟฟ้า สามารถแบ่งได้ออกเป็น เครื่องมือ วิธีการบัดกรี และเทคนิคการบัดกรี

 
เครื่องมือที่ใช้  มีดังนี้
1.             หัวแร้ง (Soldering Iron)
2.             ตะกั่ว
3.             ที่ดูดตะกั่ว  (Solder sucker)
4.             ตัวประสาน (Flux)
5.             ที่วางหัวแร้ง (Solder Stand)
6.             คีมตัด (คีมปากนกแก้ว)
7.             คีมจับ (คีมปากจิ้งจก)  
8.             มีดคัตเตอร์
9.             ทินเนอร์+ แปรงสีฟัน (อุปกรณ์ทำความสะอาด)
10.           ชิ้นงาน

1.  หัวแร้ง (Soldering Iron)
หัวแร้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการบัดกรี มีหน้าที่ให้ความร้อนเพื่อละลายตะกั่ว หัวแร้งบัดกรีจะแบ่งตามอัตรากำลังไฟฟ้าที่หัวแร้งบัดกรีแต่ละขนาดใช้หรืออาจจะหมายความถึงความสิ้นเปลืองกำลังไฟฟ้าของหัวแร้งบัดกรีนั่นเอง นอกจากนั้นอัตรากำลังไฟฟ้าของหัวแร้งบัดกรียังแสดงถึงปริมาณความร้อนที่สามารถแพร่กระจายออกมาจากหัวแร้งบัดกรีได้อีกด้วย การนำหัวแร้งบัดกรีมาสัมผัสยังจุดที่จุดบัดกรี จะทำให้ความร้อนจากหัวแร้งบัดกรีส่งผ่านไปยังชิ้นงานที่สัมผัสอยู่ ดังนั้น ถ้าเป็นจุดบัดกรีขนาดใหญ่ก็จำเป็นที่ต้องใช้หัวแร้งบัดกรีที่มีอัตรากำลังไฟฟ้าสูง ๆ ด้วย สำหรับการบัดกรีชิ้นงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะมีหัวแร้งให้เลือกใช้หลายชนิด ในที่นี้จะขอกล่าวแค่ 3 ชนิด
1.1  หัวแร้งแช่
ยุคแรก ๆ หัวแร้งแช่จะมีลักษณะคล้าย ๆ ด้ามปากกามีกำลังไฟประมาณ 25-60 วัตต์ การใช้งานจะต้องเสียบแช่อยู่ตลอดเวลาหัวแร้งชนิดนี้จะให้ความร้อนที่คงที่สม่ำเสมอซึ่งเหมาะสมสำหรับงานบัดกรีครั้งละหลาย ๆ จุด เช่น การประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
แต่ในปัจจุบันนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งานได้มากขึ้นจึงได้มีการเพิ่มความสามารถของหัวแร้งแช่ให้มีความสามารถเหมือนหัวแร้งปืน โดยโครงสร้างยังเหมือนเดิมแต่จะมีปุ่มกดเพื่อเพิ่มความร้อน ซึ่งความร้อนที่ได้ในตอนกดปุ่มจะเท่ากับหัวแร้งปืนประมาณ 130 วัตต์ ทำให้สามารถบัดกรีได้ทั้งจุดเล็กและจุดใหญ่  ยี่ห้อที่นิยมใช้กันมากจะเป็น Hakko หรือยี่ห้อ Good

         

 
                  รูปที่ 1 หัวแร้งแช่และหัวแร้งแช่แบบมีปุ่มกดเพิ่มความร้อน
 
1.2  หัวแร้งปืน
หัวแร้งปืนจะมีลักษณะคล้าย ๆ ปืน ในการใช้งานจะมีสวิทช์ที่ด้ามจับ   หัวแร้งชนิดนี้จะมีความร้อนได้รวดเร็วมีขนาดประมาณ 130 วัตต์ เหมาะสำหรับงานบัดกรีเป็นครั้งคราวและจุดที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่เหมาะสำหรับที่จะใช้กับอุปกรณ์ที่ไม่ทนความร้อน  เช่น ขั้วลำโพง แจ็คเสียบต่าง ๆ เป็นต้น

รูปที่ 2 หัวแร้งปืน
1.3  หัวแร้งไร้สาย (Cordless Soldering Iron)
หัวแร้งไร้สายเป็นหัวแร้งที่เหมาะสำหรับงานนอกสถานที่ งานที่ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ เช่น บนเสาสัญญาณสูง ๆ บนดาดฟ้า เป็นต้น
            1.3.1 หัวแร้งไร้สายแบบใช้แก๊ส Cordless Butane Soldering Iron
                หัวแร้งแก๊สเป็นหัวแร้งที่เหมะสำหรับงานนอกสถานที่ใช้เป็นครั้งคราว ต้องตรวจสอบก่อนใช้งานทุกครั้งเพราะอย่าลืมหัวแร้งตัวนี้ใช้แก๊ส อาจจะระเบิดได้
 


รูปที่ 3 หัวแร้งไร้สายแบบใช้แก๊ส (Cordless Butane Soldering Iron)
 
             1.3.2 หัวแร้งไร้สายแบบใช้แบตเตอร์รี่ (Cordless Batteries Soldering Iron)
                หัวแร้งที่ใช้แบตเตอรี่จะมีลักษณะคล้ายหัวแร้งแก๊ส  การนำไปใช้งานก็เหมือน ๆ กัน ต่างกันตรงที่ หัวแร้งที่ใช้แบตเตอรี่จะใช้ถ่าน AA 3 ก้อนซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่าหัวแร้งแก๊ส

รูปที่ 4 หัวแร้งไร้สายแบบแบบใช้แบตเตอร์รี่ (Cordless Batteries Soldering Iron)
2.  ตะกั่วบัดกรี
ตะกั่วบัดกรีก็เป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะใช้เป็นตัวเชื่อมอุปกรณ์ให้ติดกัน เช่น ใช้เป็นตัวเชื่อมอุปกรณ์อิเล็กหรอนิกส์ ใช้เชื่อมอุปกรณ์กับสายไฟและใช้เชื่อมทองแดงของแผ่นปริ้นท์ เป็นต้น
      ตะกั่วที่มีขายกันอยู่ทั่วไปนั้น มีหลายยี่ห้อผมไม่รู้ว่ายี่ห้อไหนดีเหมือนกัน แต่เท่าที่ลองใช้ดู ก็รู้สึกว่าไม่ก็ไม่ได้ต่างกัน ทุกยี่ห้อจะมีมาตรฐานเดี่ยวกันคือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.25 mm.  0.5 mm.  0.8 mm. และ 1.2 mm. การเลือกขนาดเส้นตะกั่วขึ้นอยู่กับที่จุดที่ต้องการบัดกรีว่ามีขนาดใหญ่หรือเล็ก และมาตรฐานอีกอย่างที่ใช้บอกส่วนผสมคือแบบ 60/40 และแบบ 40/60 ยกตัวอย่างตัวเลข 60/40 นี้ก็คือ ส่วนผสมของตะกั่ว และดีบุกคือ มีดีบุก 60 % และตะกั่ว 40 % ยิ่งมีดีบุกมากก็จะยิ่งทำให้การบัดกรีแล้วรอยบัดกรีเงาสวยงาม และติดสนิทยิ่งขึ้น
                ตะกั่วที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตะกั่วที่ดีสุด คือตะกั่วที่ผสมด้วยเงิน ใช้สำหรับการบัดกรีงานพิถีพิถันในเรื่องของสัญญาณ เช่น เครื่องเสียงดี ๆ สายสัญญาณ เป็นต้น


รูปที่ 5 ตะกั่วแบบแบ่งขายชนิดต่างๆ ที่มีขายอยู่
3.  ที่ดูดตะกั่ว (Solder sucker)
ที่ดูดตะกั่ว (Solder sucker) เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ กล่าวคือเมื่อมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ออกจากแผ่นปริ้นท์ ซึ่งถ้าไม่มีที่ดูดตะกั่วการบัดกรีอุปกรณ์ออกจะทำได้ยาก อาจจะทำลายปริ้นท์เสียหาย ที่ดูดตะกั่วนี้ทำหน้าที่ดูดตะกั่ว ตรงจุดที่ต้องการ จะเอาอุปกรณ์ออกและในปัจจุบันนี้มีที่ดูดตะกั่วหลาย ๆ รูปแบบและมีขนาดต่าง ๆ กัน เช่น ที่ดูดตะกั่วแบบธรรมดา ที่ดูดตะกั่วพร้อมหัวแร้งในตัวเดียว
                   
รูปที่ 6 ที่ดูดตะกั่ว (Solder sucker)
4.  ตัวประสาน  (Flux)
  ตัวประสาน  (Flux) นอกจากเป็นตัวประสานแล้ว เรายังใช้ในการใช้ล้างหัวแร้ง กรณีสกปรกที่ปลายหัวแร้ง เมื่อใช้หัวแร้งซักประมาณ 5-6 วินาที จะมีเขม่าเกาะ เขม่าพวกนี้ หากลงไปผสมกับตะกั่วก็จะทำให้ตะกั่วหมอง ไม่สดใส เกาะติดขาอุปกรณ์ไม่แน่น วิธีใช้ที่เร็ว ง่าย สะดวกที่สุด ก็จุ่มหัวแร้งที่ร้อน ๆ  ลงไป พอที่จะสะอาดก็ยกหัวแร้งขึ้น

รูปที่ 7 ตัวประสาน (Flux)
 
 5.  ที่วางหัวแร้ง (Solder Stand)
ที่วางหัวแร้ง (Solder Stand) ในขณะที่ท่านใช้หัวแร้งแบบแช่หรือแบบปืน สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ ความร้อน ของหัวแร้งอาจจะทำให้เกิดอันตรายจากความร้อนของหัวแร้งบนโต๊ะที่วางหัวแร้ง ดังนั้นที่วางหัวแร้งจึงมีความจำเป็นมากซึ่งจะมองดูเป็นระเบียบและป้องกันอุบัติเหตุได้ในขณะปฏิบัติงาน

รูปที่ ที่วางหัวแร้ง (Solder Stand)
6.  คีมตัด (คีมปากนกแก้ว)  
ใช้ตัดสายไฟที่มีและไม่มีฉนวนหุ้ม คีมตัดบางชนิดมีรูเล็ก ๆ สำหรับปอกฉนวนของสายไฟได้ด้วย
7.  คีมจับ (คีมปากจิ้งจก)  
คีมจับใช้สำหรับจับและดัดชิ้นงาน
8.  มีดคัตเตอร์
มีดใช้สำหรับกรีด ขูด ทำความสะอาดโลหะ ในการทำงานอาจทำให้ใบมีดทื่อได้ง่าย ส่วนใหญ่เราจะใช้มีดคัตเตอร์ เพราะมีดคัตเตอร์สามารถเปลี่ยนใบมีดได้ง่าย ประโยชน์อีกอย่างของมีดก็คือ เอาไว้ปอกสายไฟเวลาต้องการจะบัดกรีสายไฟกับขาอุปกรณ์ต่าง ๆ
ข้อแนะควรใช้สันมีดขูด เพราะจะทำให้มีดไม่คม


รูปที่ 9 คัตเตอร์สำหรับขูดชาอุปกรณ์หรือปอกสายไฟ
9. ทินเนอร์และแปรงสีฟัน

                ในขั้นตอนสุดท้ายของการบัดกรี เราควรล้างแผ่นปริ้นท์เพื่อดูผลงานที่เราทำว่าเป็นอย่างไรบ้าง  โดยการเอาแปรงสีฟันจุ่มทินเนอร์แล้วไปถูที่จุดบัดกรี เพื่อให้สามารถมองเห็นจุดบัดกรีได้ชัดเจน
 
10. ชิ้นงานที่จะบัดกรี
อันนี้ก็สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีอะไรจะมาให้บัดกรีแล้วก็ไม่รู้จะบัดกรีอะไร แต่โลหะในโลกนี้ มีอยู่ตั้งหลายชนิด บางชนิดก็บัดกรีได้ บางชนิดก็บัดกรีไม่ได้ แยกได้ดังนี้
โลหะที่บัดกรีได้ โลหะที่บัดกรีไม่ได้
เหล็ก
สังกะสี
ทองเหลือง
ทองแดง
เงิน
อะลูมิเนียม
สแตนเลส
เหล็กหล่อ
เหล็กชุบโครเมี่ยม
                สิ่งที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือ สายโคแอ็คเชียล (Coaxial Cable) จะสังเกตว่าเราจะบัดกรีไม่ติดไม่ว่าจะขูดอย่างไงก็ตาม
วิธีบัดกรี
1. เสียบปลั๊กหัวแร้ง
2.ในขณะที่รอให้หัวแร้งร้อน เราก็ต้องเตรียมผิวของชิ้นงานที่จะบัดกรีเสียก่อน ให้มีความสะอาด โดยการใช้คัตเตอร์ขูดที่จุดบัดกรีให้สะอาด แต่อย่าขูดแรงมากเกินไปเพราะขาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ บอบบาง อาจจะหักได้ง่าย และขอแนะอีกอย่างตอนขูดให้ใช้สันมีด อย่าใช้คมมีดขูดเพราะอาจจะทำให้มีดไม่คม
      3. การใส่อุปกรณ์มีเทคนิคพื้น ๆ คือ ต้องใส่อุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ และเตี้ย ๆ ก่อนโดยเฉพาะพวกจั๊มเปอร์ การใส่อุปกรณ์ต้องกดอุปกรณ์ทุกตัวให้ติดแผ่นปริ้นท์มากที่สุด  เมื่อใส่อุปกรณ์และกดอุปกรณ์จนแนบปริ้นท์แล้ว เทคนิคที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ต้องพับขาอุปกรณ์ให้แยกออกเป็นตรงข้ามกัน และต้องพับให้ชิดปริ้นท์มากที่สุดด้วย


รูปที่ 10  พับขาอุปกรณ์ให้แยกออกเป็นตรงข้ามกัน
4. เมื่อทำความสะอาดจุดบัดกรีเสร็จแล้ว เราก็ทดสอบว่าหัวแร้งร้อนหรือไม่  โดยเอาตะกั่วลองมาแตะ ดูที่ปลายหัวแร้ง ถ้าละลายแปลว่าใช้ได้แล้ว

รูปที่ 11 พยายามให้ตะกั่วไล้ถูกปลายหัวแร้งขณะที่เริ่มร้อนพอดี
5. เมื่อหัวแร้งร้อนได้ที่แล้ว การบัดกรีที่ถูกต้องคือ ต้องนำปลายหัวแร้งไปป้อนความร้อนให้กับชิ้นงาน จะต้องป้อนบริเวณที่เป็นจุดบัดกรีและขาอุปกรณ์พร้อม ๆ กัน แล้วจึงป้อนตะกั่ว และการป้อนตะกั่วที่ถูกต้อง จำเป็นต้องป้อนที่บริเวณชิ้นงานไม่ใช่ป้อนที่หัวแร้ง เมื่อตะกั่วละลายทั่วจุดบัดกรีแล้วก็ยกหัวแร้งขึ้นและให้เป่าด้วยปากให้ตะกั่วแข็งตัวเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นจุดบัดกรีเล็ก ๆ ก็ไม่ต้องเป่าก็ได้เพราะ ตะกั่วจะแข็งตัวเกือบทันทีที่ยกหัวแร้งออกจากจุดบัดกรี
6. ในขั้นตอนสุดท้ายของการบัดกรี เราควรล้างแผ่นปริ้นท์เพื่อดูผลงานที่เราทำว่าเป็นอย่างไรบ้าง  เพราะหลังจากการบัดกรีจะเกิดคราบสกปรกจากตะกั่วทำให้เรามองเห็นรอยบัดกรีได้ไม่ชัดเจน รอยบัดกรีของเราอาจจะเป็นตามดหรืออาจบัดกรีไม่ติด ดังนั้นเพื่อให้การบัดกรีมีคุณภาพและดูเป็นเงาสวยงามเราควรล้างจุดบัดกรีทุกครั้ง

 
เทคนิคการบัดกรี
      จากวิธีการบัดกรีขั้นต้นนั้น ก็คงพอจะทำให้ทุกคนสามารถบัดกรีได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่จะสวยงามแน่นหนาแค่ไหน ก็คงต้องใช้ เวลาฝึกฝนกันหน่อย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1.จุดบัดกรีต้องสะอาด
การเตรียมผิวของชิ้นงานที่จะบัดกรีให้มีความสะอาด โดยการใช้คัตเตอร์ขูดที่จุดบัดกรีให้สะอาด แต่อย่าขูดแรงมากเกินไปเพราะขาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ บอบบาง ขัดถูแรง ๆ ระวังขาหัก และขอแนะอีกอย่างตอนขูดให้ใช้สันมีด อย่าใช้คมมีดขูดเพราะเดี่ยวมีดจะไม่คม
2. หัวแร้งต้องสะอาด
เพราะว่าตะกั่วจะละลายติดเฉพาะกับผิวโลหะที่สะอาดเท่านั้น ดังนั้นหากปลายหัวแร้งไม่สะอาด ตะกั่วก็จะไม่ละลายติด เพราะสนิมที่เกาะอยู่ที่ผิวของปลายหัวแร้งจะกั้นความร้อนจากหัวแร้ง ไม่ให้ไหลไปยังตะกั่ว ได้สะดวก
      โดยทั่วไปเวลาพูดถึงสนิมเรามักจะนึกถึงสนิมเหล็กสีแดง ๆ แต่สนิมที่เกาะอยู่ที่ปลายหัวแร้งที่มีลักษณะสีดำ ๆ สนิมนี้เกิดได้ 2 ทางคือ เกิดเมื่อซื้อหัวแร้งมาใหม่ ๆ เวลาที่เราเสียบปลั๊กหัวแร้งครั้งแรก ปลายหัวแร้งจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากเงาแววค่อย ๆ คล้ำลงๆ   จนดำ ซึ่งจุดที่มันเริ่มคล้ำนั้นเป็นน จุดที่ะกั่วจะละลายได้พอดี วิธีการป้องกันคือ เอาตะกั่วคอยจี้ที่ปลายหัวแร้งไว้ตลอดเวลา จนกระทั่งปลายหัวแร้ง ร้อนได้ที่พอที่จะทำให้ตะกั่วละลายได้ ก็รีบไล้ตะกั่วให้ทั่วปลายในทันทีแล้วสนิมก็จะไม่ขึ้นอีก ถ้าทำไม่ทันเกิดสนิมขึ้นเสียก่อน ก็ให้ถอดปลั๊กรอให้หัวแร้งเย็นแล้วค่อย ๆ ถูด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด (อย่าถูแรง) แล้วลองใหม่
      อีกทางหนึ่งที่สนิมจะเกิดที่ปลายหัวแร้งได้ก็คือ การเสียบปลั๊กหัวแร้งทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่เอาไปบัดกรี ตะกั่วที่เคลือบอยู่ที่ปลายหัวแร้ง ก็จะค่อย ๆ กลายเป็นไอขึ้นไปจนหมด ทีนี้สนิมก็จะเกาะเข้าที่ปลายหัวแร้งได้อย่างสบาย
      มีวิธีทำความสะอาดปลายหัวแร้งอีกวิธีหนึ่ง โดยไม่ต้องถอดปลั๊กแล้วใช้กระดาษทรายถู คือ ใช้ยางสน (เอาอย่างเป็นก้อน ชนิดละลาย ทินเนอร์แล้วใช้ไม่ได้) จี้เข้าไปที่ปลายหัวแร้ง อย่าตกใจถ้าเกิดควันโขมงขึ้น นั่นถือเป็นธรรมดา แล้วรีบเอาผ้า (ที่ทำจากใยฝ้ายเช่น ผ้าขนหนู) รีบเช็ดคราบออก แล้วใช้ตะกั่วจี้ตามก็จะช่วยได้ แต่ถ้าสนิมหนามาก ก็คงต้องพึ่งกระดาษทราย


รูปที่ 12 ถ้าหัวแร้งเป็นสนิม ให้ใช้ยางสนจี้ที่ปลายหัวแร้ง
3. ใช้เวลาบัดกรีให้น้อยที่สุด

      เพราะว่าเวลาเราบัดกรีนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นการบัดกรีกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมักจะทนความร้อนมาก ๆ ไม่ได้ หัวแร้งร้อน ๆ จี้ นานนิดเดียว ก็เสียซะแล้ว ยิ่งพวกทรานซิสเตอร์หรือไอซีกับไดโอด และสารกึ่งตัวนำยิ่งแล้วใหญ่ บางทีหัวแร้งที่ร้อนมาก ๆ ยังไม่ทันบัดกรี ก็หัวใจวายตายไปก่อนแล้ว ดังนั้น การบัดกรีจึงควรทำด้วยความรวดเร็วที่สุด แต่ก็ต้องให้ตะกั่วติดแน่นด้วย ไม่อย่างนั้น ถ้าบัดกรีไม่ติดดี ก็ต้องบัดกรีซ้ำเลยยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

รูปที่ 13 แสดงขั้นตอนการบัดกรี
4. ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสม

ถ้าจุดบัดกรีเล็ก ก็ใช้หัวแร้งความร้อนต่ำ ขนาด 20-50 วัตต์ แต่ถ้าจุดบัดกรีใหญ่ก็ใช้ 30-130 วัตต์ การเลือกซื้อหัวแร้ง ควรเลือกซื้อหัวแร้งแช่ที่มีปุ่มกดเพิ่มความร้อนเพราะหัวแร้งแช่ที่มีปุ่มกดเพิ่มความร้อน เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการความร้อนมากหรือน้อย ยี่ห้อที่นิยมใช้กันมาก เช่น ยี่ห้อ Hakko หรือยี่ห้อ Good ส่วนตะกั่วให้เป็นชนิด 60/40 ขนาด 0.8 mm.
5. เมื่อบัดกรีเสร็จต้องล้างด้วยทินเนอร์ทุกครั้ง
ในขั้นตอนสุดท้ายของการบัดกรี เราควรล้างแผ่นปริ้นท์เพื่อดูผลงานที่เราทำว่าเป็นอย่างไรบ้าง  เพราะหลังจากการบัดกรีจะเกิดคราบสกปรกจากตะกั่วทำให้เรามองเห็นรอยบัดกรีได้ไม่ชัดเจน รอยบัดกรีของเราอาจจะเป็นตามดหรืออาจบัดกรีไม่ติด ดังนั้นเพื่อให้การบัดกรีมีคุณภาพและดูสวยงามเราควรล้างจุดบัดกรีทุกครั้ง


 


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก
http://www.loeitech.ac.th/~kriengsak/project/data/budgree.htm